
กินอย่างไร…ห่างไกลเบาหวาน
กินอย่างไร…ห่างไกลเบาหวาน

โรคเบาหวาน คืออะไร?
โรคเบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีผลต่อการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม โรคอ้วน การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม และขาดการออกกำลังกาย
ค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่บอกว่าเป็นเบาหวาน
ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร พบว่ามีค่า ≥ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (อย่างน้อย 8 ชั่วโมง) พบว่ามีค่า ≥ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ตรวจความทนต่อกลูโคสที่ 2 ชั่วโมงหลังดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม พบว่ามีค่า ≥ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ตรวจระดับน้ำตาลสะสม (A1C) พบว่ามีค่า ≥ 6.5%
หลังจากการรับประทานอาหาร ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าคนปกติ เป็นผลมาจากการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือฮอร์โมนอินซูลินออกฤทธิ์ได้น้อยลง จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ตามปกติ จึงก่อให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานอาหารอย่างไร?
- หมวดข้าว/แป้ง อาหารในหมวดนี้ที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทาน ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีท เส้นพาสต้าธัญพืช
ปริมาณที่แนะนำ คือ 2 ส่วนต่อมื้อในผู้หญิง และ 3 ส่วนต่อมื้อในผู้ชาย
- หมวดผลไม้ ผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ จึงควรระมัดระวังปริมาณที่รับประทาน เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
ปริมาณที่แนะนำ คือ 1 ส่วนในแต่ละมื้ออาหารทุกมื้อ
- หมวดผัก ผักเป็นแหล่งของใยอาหาร ซึ่งช่วยชะลอการดูดซึมของน้ำตาลและไขมันในอาหาร ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ
ปริมาณที่แนะนำ คือ 1-2 ทัพพีในแต่ละมื้ออาหารทุกมื้อ
- หมวดนม ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรเลือกนมจืดชนิดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย และหลีกเลี่ยงนมปรุงแต่งรสชาติ
ปริมาณที่แนะนำ คือ อย่างน้อย 1 กล่องหรือ 1 แก้วต่อวัน
สำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจคำว่า “ส่วน” ของอาหาร สามารถเข้าไปทำความเข้าใจได้ที่นี่เลย
ข้อพึงปฏิบัติในการรับประทานอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน
- รับประทานข้าว/แป้งไม่ขัดสี ไม่ควรอดหรืองด เพราะร่างกายต้องการพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก
- แบ่งมื้ออาหารเล็กๆ ออกเป็น 4-5 มื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูง จากการกินมื้อหลักในปริมาณมาก
- เลือกผลไม้ที่มีรสหวานน้อย มีกากใยอาหารแทนขนมหวานหรือขนมขบเคี้ยว และควรรับประทานผลไม้สดมากกว่าการกินผลไม้ดอง หรือน้ำผลไม้
- รับประทานผักให้มากขึ้น อย่างน้อย 4-6 ทัพพีต่อวัน โดยเฉพาะผักประเภทใบ
- เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมันไม่เอาหนัง
- หลีกเลี่ยงน้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกอม ช็อกโกแลต และขนมหวานต่างๆ
- เลือกอาหารที่ปรุงด้วยวิธีการต้ม นึ่ง ย่าง ผัดที่ใช้น้ำมันน้อย หลีกเลี่ยงอาหารทอดๆ
- อ่านฉลากโภชนาการ เพื่อเปรียบเทียบและดูข้อมูลก่อนการเลือกซื้อสินค้าทุกครั้ง